Loading...
 

การประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

แนวทางการประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ

Alexander Hristov

 

อย่างที่คงได้เห็นกันแล้วว่า หลายบทบาทในที่ประชุมจะเป็นการประเมินผู้อื่น สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้เสมอคือ "การประเมิน" ซึ่งหมายถึง "การให้ข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์" เพื่อให้ผู้รับการประเมินได้ปรับปรุงตนเองในด้านใดด้านหนึ่ง มิได้หมายถึงการตัดสินหรือการติเตียนผู้อื่นแต่อย่างใด

บทบาทผู้ประเมินสุนทรพจน์ เป็นหนึ่งในบทบาทที่สำคัญที่สุดใน Agora เนื่องจากเป็นการให้ข้อเสนอแนะที่จำเป็นกับเพื่อนสมาชิก เพื่อช่วยให้เขาได้พัฒนาตนเองและก้าวหน้าในแผนการเรียนที่เลือก

ไม่ว่าใครก็เป็นผู้ประเมินสุนทรพจน์ได้

 


คุณ Bosco Montero ขณะนำเสนอผลการประเมินสุนทรพจน์ในการประชุม Agora Speakers ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
คุณ Bosco Montero ขณะนำเสนอผลการประเมินสุนทรพจน์ในการประชุม Agora Speakers ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

ผู้ที่ได้รับบทบาทเป็นผู้ประเมินสุนทรพจน์มักจะมีคำถามทำนองว่า "ผมมีประสบการณ์พอจะเป็นผู้ประเมินสุนทรพจน์หรือเปล่า" หรือ "ฉันเพิ่งทำโครงงานมาไม่เท่าไหร่เอง ฉันจะมีคุณสมบัติจะเป็นผู้ประเมินสุนทรพจน์ในโครงงานขั้นสูงด้วยเหรอไม่"

ส่วนใหญ่ คนมักจะคิดกันว่า ในเมื่อตนเองยังไม่ได้ให้สุนทรพจน์มามากพอ ตนเองจึงไม่มีความรู้หรือประสบการณ์พอจะเป็นกรรมการตัดสินสุนทรพจน์ของใคร ๆ ได้เล่า

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความคิดที่ผิด

ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้คุณลองย้อนนึกไปถึงครั้งล่าสุดที่คุณไปโรงภาพยนตร์กับเพื่อน หลังออกจากโรงภาพยนตร์ คุณมีความเห็นเกี่ยวกับตัวภาพยนตร์หรือการแสดงของนักแสดงหรือไม่ พนันได้เลยว่าประโยคแรกที่คุณออกปากกับเพื่อนหลังชมภาพยนตร์จบคงจะเป็นทำนองว่า "โอ้โห หนังเรื่องนี้นี่สุดยอดเลย เราชอบตอนที่..." หรือ "โธ่เอ๊ย หนังเรื่องนี้ไม่สนุกเลย นักแสดงก็แสดงไม่เก่ง" ทั้งที่ตัวคุณเองก็ไม่ได้เป็นทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท หรือนักแสดงมืออาชีพ

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แม้แต่ในชีวิตประจำวันของเรา เวลาเราไปรับประทานอาหารในร้านอาหาร เราก็มีความเห็นเกี่ยวกับอาหารที่สั่ง ทั้งที่ตัวเราอาจจะมีฝีมือแค่ทอดไข่ดาว แถมยังทำครัวเลอะเทอะไปทั่วอีกต่างหาก เวลาเราไปดูละครเวที เราก็มีความเห็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องและการแสดง ทั้งที่ตัวเราก็อาจจะไม่ได้เรียนจบด้านการละครมา เวลาเราดูการแข่งขันฟุตบอล เราก็วิจารณ์ฟอร์มการเล่นของนักเตะแต่ละคนได้ ทั้งที่ตัวเราก็อาจจะไม่ได้เล่นกีฬาสักอย่าง

ที่เราทำเช่นนี้ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ก็เพราะเราไม่ได้ประเมินสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

ในทำนองเดียวกัน เป้าหมายของการประเมินสุนทรพจน์ มิใช่การประเมินผู้พูดโดยใช้เกณฑ์ทางวิชาการหรือด้วยสายตาของผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด

เป้าหมายของการประเมินสุนทรพจน์ คือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้พูดและสุนทรพจน์ของเขา ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง

ในฐานะผู้ชม คุณได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง คุณรู้ว่าตัวคุณเองรู้สึกอย่างไรกับสุนทรพจน์นั้น ๆ และหากจะพูดถึงประสบการณ์ คุณก็มีประสบการณ์ตลอดชีวิตที่ผ่านมา จากการฟังการพูดในหลากหลายโอกาส

อีกสิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้คือ ในฐานะผู้ประเมิน คุณเพียงแค่แสดงความเห็นส่วนตัวของคุณเท่านั้น

เป้าหมายของผู้ประเมินสุนทรพจน์

ผู้ประเมินสุนทรพจน์มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

  • ให้กำลังใจผู้พูด ผู้พูดก็เป็นคนเหมือนกับเรา มีความกังวลและแสวงหาการยอมรับเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน ต่อให้ผู้พูดมีความชำนาญสูงและแสดงออกถึงความมั่นใจ ในใจเขาก็ยังคงมีความกลัวและมีข้อกังขาเดียวกันกับผู้พูดมือใหม่ เช่น "เราทำแบบนี้ถูกหรือเปล่า" "เราฟังดูน่าเชื่อถือหรือเปล่า" "คนฟังรู้สึกอย่างไรกับเรากันแน่" "คนฟังจับได้หรือเปล่าว่าเราพลาดตรงนั้น ตรงนี้" ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างผู้พูดที่เชี่ยวชาญและมือใหม่ มีเพียงทักษะการควบคุมและรับมือความกลัวเหล่านี้เท่านั้น ดังนั้น ผู้พูดทุกคนย่อมจะรู้สึกดีที่ได้รับการยอมรับและได้รับกำลังใจ เมื่อมีคนยกจุดที่เขาทำได้ดีมาชมเชย
     
  • ให้ความรู้กับผู้พูดและผู้ชม ผู้ประเมินมีหน้าที่ชี้แนะสิ่งที่ผู้พูดควรปรับปรุง และอธิบายความสำคัญของสิ่งนั้น ๆ ด้วย อย่าพูดแค่ว่า "ผมอยากให้คุณใส่ลูกเล่นตอนพูดมากกว่านี้หน่อย" ควรอธิบายความสำคัญของศิลปะการใช้เสียงโดยทั่วไป และสำหรับโครงงานนั้น ๆ ด้วย จุดประสงค์ของการอธิบายนั้นเพื่อให้ผู้พูดนำไปปรับปรุงตนเอง และก็เพื่อเป็นวิทยาทานให้ผู้ชมเช่นกัน เพราะหนึ่งในวิธีเรียนรู้หลัก ๆ ของคนเราก็คือการดูจากผู้อื่นนั่นเอง
     
  • ช่วยผู้พูดปรับปรุงตนเอง ผู้พูดทุกคนล้วนต้องการพัฒนาฝีมือตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พูดที่เชี่ยวชาญ ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาก็คงรับค่าจ้างไปพูดตามงานสัมมนา แทนที่จะมาฝึกในชมรมแบบนี้ หากจะช่วยให้ผู้พูดได้พัฒนาตนเอง คุณจะต้องให้คำแนะนำที่ตรงจุดและปฏิบัติได้จริง ชี้สิ่งที่คุณคิดว่าเขาควรทำให้ดีกว่านี้ หรือปรับเปลี่ยน เพื่อให้การพูดของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ คุณไม่จำเป็นต้องท่องจำเป้าหมายข้างต้นและยืดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผมเพียงหวังว่าอาจจะพอเป็นแนวทาง ช่วยให้คุณเข้าใจบทบาทของผู้ประเมินมากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่ควรทำ: ก่อนการประชุม

เพื่อให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพ ผู้ประเมินต้องรู้จักผู้พูดและตัวโครงงานของผู้พูด ต่อให้คุณเพิ่ง "ยกมือ" เป็นผู้ประเมินในวันประชุมจริง คุณก็ยังพอมีเวลาก่อนเริ่มประชุม และสามารถเตรียมการดังต่อไปนี้ได้ไม่มากก็น้อย

1. ศึกษาโครงงานที่จะประเมิน

อ่านคำอธิบายของโครงงานที่ผู้พูดกำลังทำอยู่จนจบ โดยเฉพาะเป้าหมายและจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พูดจะได้รับจากการทำโครงงานดังกล่าว

2. ทำความเข้าใจบริบท

แต่ละครั้งที่ทำการประเมิน ผู้ประเมินควรปรับเปลี่ยนการประเมินให้เข้ากับบริบท อันประกอบไปด้วย:

  • วัตถุประสงค์ของโครงงาน
  • เป้าหมายโดยรวมของแผนการเรียนของผู้พูด
  • ระดับความชำนาญของผู้พูด
  • ความสนใจและความต้องการของผู้พูด
  • สถานที่ประชุม
  • เวลาประชุม
  • กิจกรรมที่มาก่อนหน้าและภายหลังกิจกรรมนี้

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเราควรปรับเนื้อหาการประเมินให้เข้ากับบริบทอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างเรื่องระดับความชำนาญของผู้พูด

หากผู้พูดเพิ่งเริ่มฝึกพูดในที่สาธารณะ เราสามารถอธิบายลงรายละเอียดในเรื่องพื้นฐานอย่างการสบตาผู้ชมได้ เช่น "ระหว่างพูด คุณไม่ค่อยมองผู้ชมทางซ้ายมือมากนัก การสบตาผู้ชมทุกคนเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะการสบตาจะดึงความสนใจของคนที่คุณสบตาด้วยได้ทันที สื่อถึงความมั่นใจและทำให้คุณดูน่าเชื่อถือ และยังช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับคุณตัวต่อตัว"

แต่หากผู้พูดที่ช่ำชองแล้ว เคยทำโครงงานมาแล้วมากกว่า 20 ครั้ง การอธิบายข้างต้นก็เกินความจำเป็นและเสียเวลา ควรจะให้น้ำหนักกับจุดผิดพลาดอื่นที่ผู้พูดอาจมองข้ามไปมากกว่า แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถข้ามจุดนี้ไปได้เลย เพราะไม่ว่าจะเชี่ยวชาญเพียงใด ผู้พูดทุกคนก็จะยังพลาดในเรื่องพื้นฐานเป็นครั้งคราว ให้ติงเป็นทำนองว่า "ระหว่างพูด คุณไม่ค่อยมองผู้ชมทางซ้ายมือเท่าไหร่" ก็พอ เพราะผู้พูดที่ชำนาญย่อมเข้าใจเหตุผลดีอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่ง ผู้พูดที่ช่ำชองแล้วมักจะต้องการข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงตัวเป็นหลัก ขณะที่ผู้พูดมือใหม่จะต้องการคำชมและกำลังใจเป็นหลัก และรับคำแนะนำได้ทีละน้อย

สถานที่ประชุมก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกอย่าง ผู้พูดที่เก่งจะต้องรู้จักปรับตัวเมื่อจำต้องพูดในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น

  • รูปทรงของห้อง - บางครั้งด้วยรูปทรงของห้อง ผู้ชมอาจไม่ได้นั่งรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่นั่งกระจายไปตามมุมต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้พูดที่ดีจะใส่ใจสบตาและพูดกับผู้ชมให้ครบทุกคน ไม่ว่าผู้ชมจะนั่งอยู่บริเวณใดก็ตาม
     
  • คุณภาพเสียง - สถานที่ประชุมบางแห่งก็ออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพเสียงมากนัก ผู้พูดที่ดีจึงต้องเป็นฝ่ายชดเชยด้วยการพูดให้ดังขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้ยินทั่วถึงทั้งห้อง
     
  • แสงสว่าง - บางครั้ง ไฟในห้องก็มืดเกินไป ผู้พูดจึงต้องเน้นเสียงและให้อารมณ์มากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ชมม่อยหลับไปกลางทาง ในทางตรงข้าม บางครั้งไฟก็สว่างเกินไป ซึ่งจะเป็นปัญหาหากผู้พูดใช้สื่อหรืออุปกรณ์ฉายสไลด์ประกอบการพูดด้วย
     
  • อุณหภูมิ - หากอุณหภูมิ ความชื้น หรือการถ่ายเทอากาศในห้องประชุมไม่เหมาะสม ผู้ชมจะมัวพะวงกับความไม่สบายเนื้อสบายตัวของตนเอง ผู้พูดจึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติเพื่อดึงความสนใจของผู้ชม ผู้พูดที่มีไหวพริบอาจเลือกหยอดมุก (ตลก) เกี่ยวกับสภาพห้องที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว เป็นกลเม็ดง่าย ๆ เพื่อสานสัมพันธ์กับผู้ชมและสร้างความประทับใจในทันที

วันและเวลาก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการพูดเช่นกัน หากเป็นการพูดในชมรม วันเวลาจะค่อนข้างตายตัว เนื่องจากชมรมส่วนใหญ่มักจะนัดประชุมในวันเวลาเดิมเสมอ แต่สำหรับโครงงานที่เป็นการพูดนอกชมรม หรือการพูดสุนทรพจน์ตามโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว การพูดตอนใกล้เลิกงานวันศุกร์ จะแตกต่างกับตอนเช้าตรู่วันจันทร์อย่างสิ้นเชิง เพราะในเวลาเช่นนั้น ผู้ชมจะอยู่ในห้องประชุมแต่ตัว แต่ใจได้ลอยไปที่อื่นเรียบร้อยแล้ว ทำนองเดียวกัน หากคุณจะพูดตอนก่อนหรือหลังอาหารเที่ยง ก็ควรระลึกไว้ว่าสภาพแวดล้อมจะไม่เหมือนการพูดตอน 8 โมงเช้าเช่นกัน

3. พูดคุยกับผู้รับการประเมิน

งานของผู้ประเมินเริ่มต้นขึ้นนานก่อนการประชุมจริง ผู้พูดหลายคนมักจะมีเป้าหมายของตนเองอยู่ในใจนอกเหนือจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในโครงงาน หลายคนก็อยากรู้ว่าตนเองได้เรียนรู้จากโครงงานก่อน ๆ และนำสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติจริงหรือไม่ ผู้ประเมินจึงควรช่วยดูว่าพวกเขาทำตามเป้าหมายข้างต้นได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด

ผู้พูดอาจจะติดนิสัยชอบมองผู้ชมทางซ้ายมือมากเกินไป หรือยืนโยกไปมาตลอดเวลา หรือผู้พูดอาจจะต้องการเน้นการออกเสียงให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ยินไปถึงหลังห้อง

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้ประเมินจึงควรติดต่อผู้พูดก่อนการประชุม และพูดคุยกับผู้พูดว่ามีจุดใดที่เขาต้องการข้อเสนอแนะ ที่นอกเหนือจากเป้าหมายของโครงงานหรือไม่

4. ร่างการประเมินไว้ล่วงหน้า

ถึงแม้คุณจะยังไม่ได้ฟังสุนทรพจน์จริง คุณก็สามารถวางแผนและเตรียมร่างเค้าโครงการประเมินไว้ล่วงหน้าได้ เช่น คุณอาจเลือกเปิดด้วยการชมเชยผู้พูด ย้อนเล่าไปถึงสมัยที่ผู้พูดเพิ่งเริ่มเข้าชมรมใหม่ ๆ หรืออาจเริ่มด้วยการเล่าถึงตัวคุณเองตอนที่ทำโครงงานนั้น ๆ 

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เพื่อนสมาชิกของผมคนหนึ่งจะเปิดการประเมินทุกครั้งด้วยประโยคทำนอง "ฟังสุนทรพจน์ของคุณแล้ว ผมนึกถึงตอนที่ผม..." จากนั้นก็ตัดเข้าเรื่องเล่าสั้น ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา

คุณอาจคัดสรรคำคมที่เข้ากับโครงงานนั้น ๆ มาใช้ด้วยก็ได้ เช่น ในโครงงานการวางเค้าโครงสุนทรพจน์ ซึ่งเน้นไปที่ศิลปะการใช้ภาษาในการเขียนสุนทรพจน์ ผมมักแทรกคำคมนี้จาก อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อย):

"หากคิดจะสร้างเรือสักลำ อย่าได้เกณฑ์คนตัดไม้แล้วใช้พวกเขาสร้างเรือให้คุณ แต่จงพรรณนาให้พวกเขาใฝ่ฝันถึงความกว้างใหญ่ไพศาลอันไร้ที่สิ้นสุดของมหาสมุทร"

คำคมข้างต้นช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจความสำคัญของการใช้ภาษาอย่างมีศิลปะ เพื่อถ่ายทอดภาพและอารมณ์ความรู้สึกอันทรงพลังไปยังผู้ชม

และอย่าลืมว่าการประเมินเองก็เป็นสุนทรพจน์เช่นกัน การประเมินของคุณจึงควรมีองค์ประกอบของสุนทรพจน์ที่ดีอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง เนื้อหาสาระ ความชัดเจน จังหวะ ฯลฯ 

คุณอาจเขียนจุดที่คุณจะให้น้ำหนักในการประเมิน และจดรายการคำสำคัญไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็ขีดเส้นใต้หรือขีดฆ่า(ผู้ประเมินบางคนก็ใช้เครื่องหมายบวกหรือลบ)ไประหว่างฟังสุนทรพจน์ ตามความสามารถของผู้พูด

 

สิ่งที่ควรทำ - ระหว่างการประชุม

เลือกที่นั่งให้เหมาะสม

ผู้ประเมินควรเลือกที่นั่งธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆ เหนือผู้ชมคนอื่น ไม่ควรตามใจตนเองไปเลือกนั่งแถวหน้า เพื่อจะได้เห็นและได้ยินผู้พูดชัด ๆ เพราะเท่ากับคุณจะไม่ได้รับชมสุนทรพจน์เหมือนกับผู้ชมธรรมดาทั่วไป อย่าลืมว่าคุณเป็นเพียงผู้ประเมิน ไม่ใช่กรรมการอย่างเป็นทางการ ความเห็นของคุณมิได้มีน้ำหนักเหนือความเห็นของผู้ชมคนอื่น คุณเป็นเพียงผู้ชมคนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ เท่านั้น

ตั้งใจฟัง

คงเป็นที่รู้กันว่าหากจะประเมินสุนทรพจน์ คุณจำเป็นต้องฟังสุนทรพจน์ และฟังอย่างตั้งใจมากด้วย ถ้าจะให้ดี คุณควรจะได้จดรายการหัวข้อที่คุณจะให้น้ำหนักเป็นพิเศษไว้แล้ว จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเขียนระหว่างที่ฟัง ขณะฟัง ขอให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องให้หมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ของว่าง โทรศัพท์มือถือ เพื่อนบ้านที่มานั่งฟังอยู่ด้วย เพื่อนสมาชิกที่คุณแอบชอบอยู่ ฯลฯ

จดบันทึก

คุณอาจมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนความจำดีเลิศ แต่ความจำของคนเราไม่ได้ทรงพลังขนาดนั้น อย่าประมาทว่าคุณจำได้แน่นอนว่าตอนประเมินจะพูดอะไรบ้าง ควรจดไว้ทั้งหมด ต่อไปนี้คือตัวอย่างสิ่งที่ควรจดบันทึกระหว่างฟัง:

  • คำคมหรือประโยคที่คุณรู้สึกว่าเหมาะสมหรือน่าจดจำเป็นพิเศษ
  • ภาษาท่าทางหรืออากัปกิริยาของผู้พูดที่เหมาะสมและช่วยสนับสนุนเนื้อหาของการพูด (หรือ ในทางกลับกัน การออกท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ มากเกินพอดี หรือไม่เข้ากับสิ่งที่พูด)
  • สื่อประกอบการพูดที่โดดเด่นสะดุดตา หรือ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
  • องค์ประกอบโดยรวมต่าง ๆ ที่ผู้พูดทำได้ดี (หรือไม่ดี)

ที่สำคัญ อย่าลืมจดบันทึกแล้วให้ตัวคุณเองอ่านออกด้วย ผมได้เห็นผู้ประเมินไม่น้อยเลยที่ลงเอยไปยืนเก้อบนเวทีเพราะอ่านลายมือตัวเองไม่ออก

ทางที่ดี ผมขอแนะนำให้เขียนตัวใหญ่ ๆ เข้าไว้ คุณจะได้อ่านสิ่งที่จดไว้ได้ง่าย ทิ้งบทไปได้เลย หรืออาจจะไม่ต้องถือบทไว้ในมือ คุณสามารถวางบทไว้บนแท่นบรรยายหรือเก้าอี้แถวหน้าสุด แล้วอ่านจากไกล ๆ ได้

ระหว่างจดบันทึก ให้จัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็นที่จะประเมินไปด้วย เพราะคุณไม่มีเวลาพอจะพูดทุกสิ่งที่คิดไว้ตอนนำเสนอผลการประเมิน เคล็ดลับคือให้ใส่ตัวเลขไว้หน้าแต่ละประเด็น (ผู้ประเมินบางคนก็จำแนกด้วยจำนวนเครื่องหมายบวก ("+" "++" "+++") สำหรับจุดเด่น และเครื่องหมายลบสำหรับข้อปรับปรุงแทน) จากนั้น หลังผู้พูดพูดจบ ก็รีบร่างเค้าโครงคร่าว ๆ ว่าคุณจะพูดอะไรบ้าง

แสดงความสนใจ

ผู้พูดมักจะเพ่งความสนใจมาที่ผู้ประเมินมากกว่าผู้ชมคนอื่น ๆ ทั้งที่ไม่ควร ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่พอประมาณ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้คุณมีแรงกดดันมากขึ้น คุณจึงควรแสดงความใส่ใจด้วยการสบตาผู้พูดให้มากเป็นพิเศษ ส่งสัญญาณแสดงความคล้อยตาม เช่น พยักหน้า และให้เสียงตอบรับในยามที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น เวลาที่ผู้พูดแทรกมุกตลกหรือเรื่องเล่าขบขัน

 

สิ่งที่ไม่รวมอยู่ในการประเมิน

ระหว่างฟังสุนทรพจน์ ผู้ประเมินพึงระลึกไว้เสมอว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประเมิน:

  • หัวข้อสุนทรพจน์ โดยปกติแล้วเราจะไม่ประเมินหัวข้อสุนทรพจน์ นอกจากจะดูว่าหัวข้อที่ผู้พูดเลือกมาเอื้อให้กับเป้าหมายของโครงงานนั้น ๆ หรือไม่ เช่น หากผู้พูดกำลังทำโครงงานเรื่องการใช้ภาษาท่าทาง ผู้ประเมินควรดูว่าหัวข้อที่ผู้พูดเลือกมาเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้ใช้ภาษาท่าทางมากพอหรือไม่ นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้พูดมีอิสระเต็มที่ในการเลือกหัวข้อที่ต้องการพูด
     
  • เนื้อหาสุนทรพจน์ ส่วนมาก เนื้อหาของสุนทรพจน์จะไม่รวมอยู่ในการประเมิน ยกเว้นเฉพาะบางโครงงานเท่านั้น ถึงแม้โดยส่วนตัวคุณจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของการพูด แต่ก็ไม่ควรแสดงความเห็นในส่วนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าไปโต้เถียงหรือโต้วาทีกับผู้พูดเพื่อตัดสินว่าใครถูกใครผิด
     
  • รูปลักษณ์ของผู้พูด เราจะไม่ประเมินตัวผู้พูดเองโดยเด็ดขาด ผู้ประเมินไม่ควรออกความเห็นเกี่ยวกับเสื้อผ้าหน้าผม การวางตัว หรือเครื่องประดับของผู้พูด เว้นเสียแต่สิ่งนั้นจะส่งผลต่อการพูดในทางใดทางหนึ่ง เช่น หากผู้พูดใส่กำไลที่ส่งเสียงดังรบกวนทุกครั้งที่ผู้พูดขยับมือ กรณีนี้ก็สมควรแจ้งให้ผู้พูดทราบ แต่ความเห็นในทำนอง "วันนี้กระโปรงคุณสวยมากเลย" หรือ "สูทคุณดูดีนะ" นั้นไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

 

สิ่งที่ควรทำ: การนำเสนอผลการประเมิน

แนวทางการนำเสนอผลการประเมินที่แนะนำกันโดยทั่วไป มักเป็นวิธีที่เรียกกันว่า "วิธีพูดแบบแซนด์วิช" ถ้าสมมติว่าข้อเสนอแนะเป็นไส้แซนด์วิช ก็คือการแทรกข้อปรับปรุงชั้นหนึ่งเข้าไประหว่างข้อเสนอแนะเชิงบวกสองชั้น สลับกันไปเช่นนี้ตามแต่จำนวนข้อเสนอแนะ

Sandwich Approach Blank
คำชมเชย

 

ข้อควรปรับปรุง

คำชมเชย

 

ความหนาของแต่ละชั้นนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความชำนาญและความมั่นใจของผู้พูด

  • สำหรับผู้พูดมือใหม่ ควรเน้นให้กำลังใจเป็นหลัก อัตราส่วนสัก 40-20-40 จึงค่อนข้างกำลังดี ดังนั้น การประเมินของคุณจะมีข้อควรปรับปรุงเพียง 2-3 ข้อหลัก ๆ เท่านั้น
  • ในทางกลับกัน ผู้พูดที่มีประสบการณ์คงจะพอใจอัตราส่วนประมาณ 20-50-30 ซึ่งเทียบได้กับข้อควรปรับปรุง 5-6 ข้อ และคำชมเชยสำหรับจุดแข็งที่โดดเด่นจริง ๆ เพียง 2-3 ข้อเท่านั้น

 

การให้ข้อเสนอแนะเชิงบวก

การชมเชยผู้พูดมักเป็นส่วนที่ง่ายที่สุดของการประเมิน แต่ก็มีกับดักมากมายที่เราอาจพลาดตกหลุมพรางได้ง่าย ๆ:

  • การเยินยอ - แน่นอนว่าคำเยินยอเป็นคำพูดในแง่บวก ใคร ๆ ก็ชอบคำเยินยอ แต่การเยินยอไม่ใช่การให้ข้อเสนอแนะเชิงบวก ความแตกต่างอยู่ที่การเยินยอนั้นไม่เฉพาะเจาะจง ผู้พูดฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าตนเองทำสิ่งใดได้ดีกันแน่ จึงได้รับคำชมเชย และไม่สามารถปฏิบัติต่อไป หรือนำไปต่อยอดอะไรได้ เช่น การพูดทำนองว่า "คุณเล่านิทานได้สนุกมาก ทำดีมาก" เป็นเพียงคำเยินยอตื้น ๆ แต่หากลองเปลี่ยนคำพูดเป็นทำนอง "คุณเล่านิทานได้สนุกมาก ตัวละครที่ผมชอบที่สุดคือหนูน้อยหมวกแดง คุณบรรยายลักษณะนิสัยของเธอได้ละเอียดดี แล้วผมก็ชอบที่คุณดัดเสียงเล่นบทบาทสมมติเป็นเธอด้วย" นี่จึงจะเป็นการให้ข้อเสนอแนะเชิงบวก พยายามหลีกเลี่ยงคำขยายกว้าง ๆ ที่ไม่มีความหมายจำพวก "คุณใส่ลูกเล่นให้เสียงเก่งนะ" "พูดได้ดีนะ" "เป็นการนำเสนอที่ยอดเยี่ยม" ฯลฯ เว้นเสียแต่คุณจะอธิบายต่อว่าเหตุใดที่คุณจึงมีความเห็นเช่นนั้น
     
  • ชมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ - ไม่ควรชมเชยหรือเยินยอผู้พูดในจุดที่ไม่สลักสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้พูดที่ช่ำชองแล้ว สำหรับผู้พูดมือใหม่ การกล่าวถึงหรือแสดงความเห็นเรื่องการไม่อ่านบท หรือการรู้จักสบตาผู้ชมเป็นสิ่งที่ดีและเป็นกำลังใจให้ผู้พูด แต่สำหรับผู้พูดที่มีประสบการณ์ จุดเหล่านี้ไม่ได้สลักสำคัญอีกต่อไปแล้ว ลองนำใจเขามาใส่ใจเรา ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเคยพูดสุนทรพจน์มาแล้ว 20 ครั้ง แล้วคุณได้ยินเป็นครั้งที่ 21 ว่า "คุณไม่ดูบท ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่า...ฯลฯ" คุณจะรู้สึกอย่างไร
     
  • ชมจนเกินพอดี - แม้แต่สิ่งที่ดีถ้ามากเกินไปก็กลายเป็นผลเสียได้ สมาชิกทุกคนเข้าร่วม Agora เพื่อพัฒนาตนเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หากการประเมินของคุณเป็นข้อเสนอแนะเชิงบวกเสีย 80% (หรือ 100%) ผู้พูดอาจรู้สึกได้ว่า "เอาล่ะ ถ้าฉันเก่งเลอเลิศขนาดนี้จริง แล้วฉันมามัวทำอะไรที่นี่แต่แรก"
     
  • ลูบหลังแล้วตบหัว หรือ ชมแบบที่เดาจุดมุ่งหมายไม่ถูก - คนส่วนใหญ่ติดนิสัยใช้คำชมเป็นข้ออ้าง หรือใช้ต่างถุงลมนิรภัยเพื่อให้สิ่งที่จะพูดตามมาฟังนุ่มหูขึ้น ดังจะเห็นได้จากประโยคทำนอง "ฉันชอบ...นะ แต่..." ทันทีที่คุณพูดคำว่า "แต่" ออกมา ทุกสิ่งที่คุณพูดก่อนหน้าจะหมดความหมายไปในทันที กลายเป็นเพียงคำเกริ่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นจริง ๆ ของคุณที่ตามมา ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการพูดในลักษณะนี้ คำชมก็ควรเป็นคำชมจริง ๆ ไม่ควรมีคำติต่อท้าย

การบอกข้อควรปรับปรุง

การบอกข้อควรปรับปรุงมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการประเมิน อาจเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้:

  • เราไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
  • เราไม่แน่ใจว่าตนเองมีประสบการณ์พอหรือไม่
  • เราไม่แน่ใจคุณสมบัติของตนเอง
  • เราไม่แน่ใจว่าเราเห็นหรือฟังถูกหรือไม่

เมื่อใดที่เกิดความคิดเหล่านี้ อย่าลืมว่าคุณไม่ได้กำลังให้คะแนนผู้พูด คุณเพียงแค่เสนอความคิดเห็นส่วนตัวของคุณ และแนะนำผู้พูดว่าเขาควรจะปรับปรุงตนเองอย่างไรเท่านั้น

เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้พูด ข้อควรปรับปรุงควรมีลักษณะดังต่อไปนี้:

  • มีความเฉพาะเจาะจง เช่นเดียวกับข้อเสนอแนะเชิงบวก เส้นบาง ๆ ที่กั้นกลางระหว่างการติเตียนและการบอกข้อควรปรับปรุง คือความเฉพาะเจาะจง ในทำนองเดียวกับการเยินยอ การติเตียนมักจะเป็นการพูดเหวี่ยงแห และหลายครั้งก็อาจมีอคติปะปนอยู่ด้วย เช่น การพูดทำนอง "คุณออกท่าทางเยอะไปหน่อย" เป็นการติเตียน แต่หากลองเปลี่ยนคำพูดเป็นทำนอง "ตอนที่คุณกระโดดขึ้นโต๊ะ ทำท่าทางเลียนแบบลิงกอริลล่าแล้วก็โหนโคมไฟ ผมรู้สึกว่าเป็นการใช้ภาษาท่าทางที่เกินพอดีไปหน่อย"
     
  • มีคำแนะนำ - ผู้ประเมินไม่ควรทำเพียงชี้ให้ผู้พูดเห็นว่าควรปรับปรุงตรงไหนเท่านั้น แต่ควรให้คำแนะนำว่าควรปรับปรุงอย่างไรด้วย สืบเนื่องจากตัวอย่างข้างต้น หลังบอกข้อควรปรับปรุงแล้ว คุณอาจเสริมเป็นทำนอง "ผมคิดว่าแค่ใช้มือออกท่าทาง งอหลัง แล้วเดินเหมือนกอริลล่าสักเล็กน้อย ก็เพียงพอจะสื่อสิ่งที่คุณต้องการพูดได้แล้ว"
     
  • ปฏิบัติได้จริง - ผู้พูดสามารถแก้ไขปรับปรุงในจุดที่คุณไม่ชอบใจได้ เช่น หากผู้พูดเป็นคนเสียงแหบหรือห้าว นั่นก็เป็นเสียงปกติของเขา ไม่มีประโยชน์ที่จะไปติงว่า "คุณกำลังอ่านบทกวีรัก ผมว่าคุณควรเปลี่ยนเสียงให้นุ่มนวลและไพเราะกว่านี้"

ข้อควรระวังเวลานำเสนอข้อควรปรับปรุง คือ:

  • อย่าจี้จุดเดิมซ้ำ ๆ - ชี้แนะจุดที่ควรปรับปรุงเพียงครั้งเดียวก็พอ ไม่ควรย้อนกลับมาย้ำเรื่องเดิมหลายครั้ง
     
  • อย่าใช้คำพูดเชิงสั่ง - คุณไม่ใช่เจ้านายของผู้พูด หลีกเลี่ยงคำพูดในทำนอง "คุณน่าจะ" "คุณควรจะ..." (ที่ร้ายที่สุดคือ "คุณต้อง...") สรุปง่าย ๆ คือ ภาษา "ชี้นิ้วสั่ง" ทั้งหลาย ควรพูดเป็นทำนอง "ถ้าเป็นผม ผมจะทำอย่างนั้น อย่างนี้แทน" "ผมขอแนะนำให้คุณทำแบบนี้จะดีกว่า" "ผมขอเสนอให้คุณ..." เป็นต้น
     
  • อย่าพูดแบบสุดโต่ง - อย่าลืมว่าคุณเพียงแค่เสนอความคิดเห็นส่วนตัวของคุณ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง ลองเปลี่ยนจาก "คุณไม่มีลูกเล่นในการใช้เสียงเลย" เป็น "ผมไม่ค่อยเห็นคุณใส่ลูกเล่นให้เสียงของคุณเท่าไหร่ ผมนึกออกแค่สามครั้งเท่านั้น คือตอนที่คุณเล่นบทบาทเป็นหนูน้อยหมวกแดง หมาป่า แล้วก็คุณยาย"
     
  • อย่าพูดแทนคนอื่น - ข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อก่อนหน้า อย่าลืมว่าคุณไม่ได้จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรกับผู้พูดหรือผู้ชม เช่น "ผมว่าทุกคนคงคิดเหมือนผม ว่าคุณควรปรับปรุงการใช้ภาษาท่าทางของคุณ"
     
  • ท้ายที่สุด พูดในสิ่งที่คุณเห็นเท่านั้น อย่าคาดเดาเอาเองถึงที่มาที่ไป เช่น อย่าพูดเป็นทำนอง "ผมรู้สึกว่าคุณไม่ได้เตรียมตัวมาเท่าไหร่" เพราะคุณไม่มีหลักฐานรองรับข้อสันนิษฐานนั้น ลองเปลี่ยนคำพูดเป็น "บางช่วง ผมรู้สึกว่าคุณดูลังเลหรือไม่แน่ใจว่าควรพูดอะไรต่อ" จะดีกว่า

สรุปผลการประเมิน

ช่วงสรุปการประเมิน ควรสรุปรวบย่อจุดเด่นและข้อควรปรับปรุงของผู้พูดอีกครั้ง และปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจและเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พูด

หลีกเลี่ยงประโยคส่งท้ายที่ซ้ำซากทำนอง "แล้วผมจะรอฟังการพูดครั้งต่อไปของคุณนะ ฯลฯ" ซึ่งใช้กันจนจำเจ พยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปสักเล็กน้อย ทางที่ดี อย่ารอจนถึงวันจริงแล้วจึงค่อยคิดว่าจะจบการประเมินอย่างไร

 

สิ่งที่ควรทำ: หลังการประชุม

หลังการประชุม เข้าไปพูดคุยกับผู้พูด เผื่อว่าเขาจะมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม และอย่าลืมกรอกบัตรประเมินผลของโครงงานนั้น ๆ ให้เขาด้วย

 

ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ประเมินที่ดีได้

เช่นเคย ความชำนาญเกิดจากการฝึกฝน แต่คุณก็มีวิธีสั่งสมประสบการณ์โดยไม่ต้องเป็นผู้ประเมินเช่นกัน คุณสามารถลองทำตามขั้นตอนการประเมินข้างต้นด้วยตนเอง โดยไม่ต้องนำเสนอผลการประเมินต่อที่ประชุมจริง การเปรียบเทียบผลการประเมินของคุณ กับการประเมินของผู้ประเมินตัวจริงในการประชุม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีเช่นกัน

 

เมื่อคุณเป็นผู้รับการประเมิน

เมื่อคุณเป็นฝ่ายรับการประเมิน ให้น้อมรับผลการประเมินอย่างถ่อมตนและถือเป็นวิทยาทาน ผู้ประเมินเพียงต้องการช่วยให้คุณได้พัฒนาตนเอง ไม่ควรถือโทษโกรธกันเป็นเรื่องส่วนตัว

อย่าโต้เถียงกับผู้ประเมิน โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังนำเสนอผลการประเมิน ระลึกไว้เสมอว่าผู้ประเมินเพียงแค่เสนอความคิดเห็นส่วนตัวของเขา และถ่ายทอดให้คุณรู้ว่าเขาเห็นและรู้สึกอย่างไรกับการนำเสนอของคุณ

หากต้องการแสดงความคิดเห็นหรือพูดคุยลงรายละเอียดในเรื่องใด ๆ กับผู้ประเมิน ให้เก็บไว้คุยกันหลังการประชุม

 

รู้กาลเทศะในการประเมิน

เมื่อลองได้เป็นผู้ประเมินที่มีส่วนร่วมและเป็นที่ยอมรับในชมรมแล้ว คุณก็อาจเกิดความรู้สึกอยากนำความสามารถไปใช้นอกชมรมบ้าง แต่ในกรณีนี้ คุณควรใช้วิจารณญาณ หรือถ้าจะให้ดีก็ไม่ทำเลยจะดีที่สุด เพราะผู้พูดในชมรมตั้งใจมาเพื่อรับการประเมินและรับข้อเสนอแนะ พวกเขาเตรียมตัวมาแล้ว และเห็นค่าของข้อเสนอแนะของคุณ แต่สำหรับคนทั่วไปและผู้พูดตามโอกาสต่าง ๆ นั้นไม่เหมือนกัน

ลองจินตนาการว่าคุณไปเข้าร่วมพิธีประกาศรางวัลสักอย่าง หลังเสร็จพิธี คุณเข้าไปหาผู้ชนะเลิศ แล้วพูดกับเขาทำนองว่า

"ผมชอบสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลของคุณนะ ผมชอบที่คุณพูดให้เสียงดังไปถึงหลังห้อง ให้ทุกคนได้ยินคุณอย่างทั่วถึง แต่ผมขอติงเรื่องสายตาของคุณ คุณควรจะสบตาผู้ชมให้มากกว่านี้ แล้วผมสังเกตว่าคุณชอบมองไปทางปีกขวาของห้องมากไปหน่อย แล้วก็..."

อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เรื่องแบบนี้มีจริง

เราควรระลึกไว้เสมอว่า การก้าวเข้าไปเป็นครู เมื่อมีคนขอให้เราช่วยให้ข้อเสนอแนะ กับการปวารณาตนเองเป็นนักเทศน์สั่งสอนคนทั้งโลก เป็นคนละเรื่องกัน


Contributors to this page: thanin dhammalongkrot , anchisa.utjapimuk and agora .
Page last modified on Monday January 24, 2022 10:17:49 CET by thanin dhammalongkrot.